TH | EN

จากที่ SCI ได้มีการขยายธุรกิจในภูมิภาคตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยกรุณาอธิบายว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?

SCI เริ่มจากการขยายธุรกิจไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2549 เนื่องจากเรามองเห็นความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงเนื่องจากสปป.ลาวนั้นตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย กลยุทธ์ของเราในการบุกเบิกตลาดใหม่ก็คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในตลาดนั้นๆ ดังนั้นเราจึงเริ่มบุกเบิกการทำธุรกิจในสปป.ลาวโดยลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก ชื่อว่าเขื่อนตาดสะแลน ที่เมืองเซโปน จังหวัดสะหวันนะเขตในปี 2549 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2556 โดยมีสัญญาสัมปทานอายุ 30 ปี จำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว หรือ EDL ด้วยเหตุนี้ SCI จึงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะองค์กรที่เป็นผู้ให้บริการและมีศักยภาพในการลงทุนในประเทศสปป.ลาว สืบเนื่องจากนั้น บริษัทฯก็ได้รับมอบหมายงานโครงการนวิศวกรรม ก่อสร้างแบบครบวงจร (EPC) จาก EDL ในปี 2552 เป็นโครงการก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวล์ต มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหลังจากโครงการดังกล่าวดำเนินการเสร็จสิ้น บริษัทฯ ก็ได้รับงานโครงการใหม่ชื่อว่า PDSR1 เป็นโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าจำหน่าย มูลค่า 94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของเมียนมาร์ บริษัทฯ ได้มีการมองหาโอกาสที่เป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2553 แต่ด้วยประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาลทหาร ณ ขณะนั้น เราจึงยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองการปกครองเริ่มเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราจึงกลับมาทบทวนใหม่และพบว่ามีตลาดรองรับในส่วนของงานเสาสื่อสารโทรคมนาคม เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และโครงเหล็กสถานีไฟฟ้า ดังนั้น ในปี 2560 เราจึงได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างฐานการผลิตที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา เพื่อผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคม และเพื่อให้บริการชุบสังกะสีสำหรับตลาดในประเทศ

แม้ว่าบริษัทฯ จะมีการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ แต่รายได้และกำไรนั้นปรับตัวลดลง อะไรคือสาเหตุของประเด็นนี้และฝ่ายบริหารมีแนวทางในการปรับปรุงผลการดำเนินงานอย่างไร?

ตั้งแต่ SCI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงปี 2559 ก็มีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด เนื่องจากเรามีธุรกิจที่มั่นคงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ตู้ควบคุมไฟฟ้า รางเดินสายไฟ เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงเหล็กสถานีไฟฟ้า และยังมีการเติบโตของรายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการในประเทศลาว ในเดือนพฤษภาคมปี 2559 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาโครงการ EPC ใหม่กับ EDL ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย 500/230 กิโลโวล์ต จากเมืองฮุนไปยังเมืองนาน มูลค่าสัญญาประมาณ 416 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้วยความตั้งใจของประเทศลาวที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย รัฐบาลสปป.ลาวจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าที่ในประเทศเพื่อนำจ่ายไฟฟ้าจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ และการลงทุนระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวยังถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเองก็มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับ EDL ที่จะรับซื้อไฟฟ้า 9,000 เมกกะวัตต์ จกสปป.ลาว ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีการซื้อไฟฟ้าเพียง 6,000 เมกกะวัตต์เท่านั้น และแผนในการซื้อกระแสไฟฟ้าจาก EDL ก็ล่าช้ามาระยะหนึ่งแล้ว ประเด็นนี้เองนำไปสู่ความล่าช้าในการดำเนินโครงการของทางบริษัทฯ และเป็นผลกระทบต่อธุรกิจในลำดับถัดมา อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยโครงการนี้เป็นความจำเป็นสำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบส่งไฟฟ้าในระยะยาวของสปป.ลาว เราจึงมั่นใจว่าจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องอย่างแน่นอน ในประเทศไทยเอง ธุรกิจโทรคมนาคมก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี 3G และ 4G ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในเรื่องการกระจายสัญญาณของผู้ให้บริการายหลัก และเมื่อเครือข่ายมีความครอบคลุมเต็มศักยภาพ ความต้องการเสาสัญญาณก็จะปรับตัวลดลง นอกจากนั้น ตลาดในประเทศไทยยังขึ้นกับการลงทุนของภาครัฐซึ่งมีความล่าช้าและลดมูลค่าลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้ว ราคาวัตถุดิบ เช่น เหล็กและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังกะสีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 60-70% ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทฯ ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นขยายธุรกิจในภูมิภาคและในประเทศด้วยการร่วมทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายตัวธุรกิจในเชิงภูมิศาสตร์และเพื่อสร้างกระแสรายได้ให้มีหลากหลายช่องทางมากขึ้นในอนาคต

SCI ได้เข้าร่วมทุนกับ Property Perfect และ T Utilities มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง และบริษัทฯ มีการร่วมทุนกับบริษัทใดอีกบ้างหรือมีแผนที่จะริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ บ้างหรือไม่?

T Utilities (TU) จะเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ น้ำประปา และการบริหารจัดการขยะ การร่วมทุนดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2560 ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านบาท ในปัจจุบันโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในช่วงกลางปี 2561 โดยมีกำลังการผลิต 3 เมกกะวัตต์ และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 10 เมกกะวัตต์ในปีนี้ จุดมุ่งหมายถัดไปของ TU คือธุรกิจน้ำ โดยมีแผนจะขยายไปสู่การให้บริการด้านน้ำประปาและระบบการบริหารจัดการน้ำ เราหวังว่า TU จะมีการเติบโตต่อไปในอนาคตและมีโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน นอกจากนั้น SCI ยังมีการร่วมทุนกับอีก 2 กิจการ อันดับแรกคือ SCI Enesys (SE) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง SCI กับ Tokyo Energy & System บริษัทก่อสร้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป้าหมายหลักของ SE ก็คือการจำหน่ายตู้ควบคุมไฟฟ้าให้กับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งระบบ โดยใช้ฐานการผลิตและฐานลูกค้าของทั้ง SCI เองและของ Tokyo Energy & System อันดับถัดมา SCI เพิ่งประกาศการร่วมทุนกับ Gold Elite Paris ในการทำธุรกิจจัดจำหน่ายและเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ แผนงานอย่างละเอียดและกำหนดการเปิดบริษัทจะมีการประกาศในภายหลัง

ความเสี่ยงที่มีนัยยะสำคัญที่สุดต่อธุรกิจคืออะไร?

ประเทศไทยกำลังผ่านช่วงเลือกตั้ง เราตั้งความหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาดีและรัฐบาลใหม่จะสานต่อโครงการขนาดใหญ่และมีการใช้จ่ายของภาครัฐเกิดขึ้นในเร็ววัน หากเป็นไปตามที่เราหวังไว้ ภาพรวมธุรกิจในประเทศจะเป็นไปในทางบวก ส่วนในประเทศลาว ความเสี่ยงหลักของเรามี 2 ประการได้แก่ ความล่าช้าของโครงการ EPC ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะต่อรายได้จากการให้บริการและความยากในการหาโครงการใหม่เพื่อดำเนินการต่อในสปป.ลาว สำหรับเมียนมาร์ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่เรายังมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพในระยะยาว

คุณมองภาพธุรกิจ SCI ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไรบ้าง?

หากพิจารณาในภูมิภาคนี้ ธุรกิจหลักของเราในประเทศไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ได้โดยมีการเติบโตจากการร่วมทุน อาทิ TU ซึ่งจะสร้างรายได้เข้ามาต่อเนื่องในระยะยาว เราอยากเห็น TU เติบโตต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งอาจมีโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ โครงการในประเทศลาวในปัจจุบันมีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง 3-5 ปี โดยเราก็หวังว่าจะได้รับโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนเมียนมาร์นั้น ตอนนี้ยังคงเร็วไปที่จะมีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ภายในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ เราน่าจะเหนภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพที่แท้จริงของเมียนมาร์ สุดท้าย SCI ก็จะยังคงมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค รวมถึงกัมพูชาและเวียดนาม และเมื่อเราหาพบแล้ว เราก็จะไม่พลาดที่จะคว้าไว้อย่างแน่นอน




บทสัมภาษณ์ผู้บริหารชุดนี้จัดทำโดยบริษัท ShareInvestor ผู้ให้บริการด้านสื่อการเงินออนไลน์ เทคโนโลยี และเครือข่ายนักลงทุนสัมพันธ์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่อีเมล์ admin.th@shareinvestor.com หรือเว็บไซท์ www.ShareInvestorThailand.com